ความรู้เรื่องปีนักษัตร

ความรู้เรื่องปีนักษัตร

พอเปลี่ยนปี พ.ศ. มาแล้ว หลายๆ คนคงจะได้ยินคำพูดที่ว่า
ปีนี้เป็นปีจอ

นั่นก็คือ ในทางนักษัตรนั้น จะนับว่าปี ๒๕๖๑ นี้ เป็น ปีจอ ? ปีหมา นั่นเอง

ทราบไหมคะว่า ความเชื่อเรื่อง ปีนักษัตร นั้น มีความหมายสำคัญกับชาวเอเชียตะวันออกอย่างมาก เช่น ไทย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ต่างมีคติความเชื่อและพิธีกรรมสำคัญๆ เกี่ยวกับนักษัตรเช่นกัน

อย่างของชาวจีน มีเรื่องเล่ากันว่า เริ่มต้นจากในสมัยปีใหม่แรกของจีน สัตว์ต่างๆ ได้มาชุมนุมที่หน้าวังหลวงของฮ่องเต้สวรรค์ พระองค์ท่านจึงได้ประกาศให้สัตว์ ๑๒ ชนิดที่มาถึงก่อน ได้ตำแหน่งเป็นองครักษ์เฝ้าวังหลวง มีหน้าที่ประจำอยู่ยาม

พระราชโองการมีว่า ให้สัตว์แต่ละประเภท เข้าเวรยามกันครั้งละ ๒ ชั่วโมง เมื่อครบ ๑๒ ชนิด ก็จะได้เวลา ๒๔ ชั่วโมงพอดี

นั่นจึงเป็นที่มาของสัตว์ประจำยาม หรือประจำนักษัตรนั่นเอง

ขณะทางเวียดนาม ก็มีวันขึ้นปีใหม่ ที่เริ่มปีด้วยสัตว์สัญลักษณ์นักษัตรเหมือนกัน แต่มีศัพท์เรียกแตกต่างกันไป เช่น ปี “ติ๊” ตรงกับปีชวดของไทย มี “จวด” หรือหนู ?ในภาษาเวียดนามเป็นสัญลักษณ์
แต่ของเวียดนามนั้น ในบางปีก็จะแตกต่างออกไปจากของจีนและของไทย เช่น ปีฉลู-วัว จะกลายเป็นสัญลักษณ์ตัวควาย, ปีเถาะ-กระต่าย ? จะเป็นสัญลักษณ์ตัวแมว ? เป็นต้น

ไปที่ญี่ปุ่นบ้าง ก็มีความเชื่อเรื่องรอบนักษัตร โดยการนับปีของญี่ปุ่น จะเริ่มลำดับที่หนู (ปีชวด)ไปจนถึงลำดับสุดท้ายหมูป่า ? (ปีกุน) (ของไทยเป็นหมู ? เฉยๆ) และเป็นที่น่าสนใจด้วยว่า ปีแพะ (มะแม) ? ของคนไทย ในญี่ปุ่นจะกลายเป็นปีแกะไป ?

♥️ การเรียงลำดับนักษัตรดังนี้

  • ชวด หนู
  • ฉลู วัว (เวียดนามใช้ตัวควาย)
  • ขาล เสือ
  • เถาะ กระต่าย (เวียดนามใช้ตัวแมว)
  • มะโรง งูใหญ่ (เวียดนามใช้มังกร)
  • มะเส็ง งูเล็ก
  • มะเมีย ม้า
  • มะแม แพะ
  • วอก ลิง
  • ระกา ไก่
  • จอหมา
  • กุน หมู (ล้านนาใช้ตัวช้าง ?, ญี่ปุ่นใช้หมูป่า)

** ทั้งนี้ ล้านนาจะเรียกเรียงกันว่า

ไจ้ (ปีชวด), เป้า, ยี, เหม้า, สี, ไส้, สง้า, เม็ด, สัน, เล้า, เส็ด, ไก๊

Mysterious hare is dancing with fans in her hand. Cartoon and vector illustration

ในอีกความหมายหนึ่ง คำว่า *นักษัตร* มาจากภาษาสันสสฤตว่า “นกฺษตฺร” หรือ “นักขัต”

โดยพจนานุกรม ให้ความหมายไว้ว่า

[นักขัด นักขัดตะ นักษัตร] หมายถึง ดาว ดาวฤกษ์

มีปรากฎว่า ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ด้านที่ 3 และด้านที่ 4 มีข้อความในจารึกกล่าวถึงปีมะโรง ปีกุน และปีมะแม จึงเป็นจุดที่น่าสนใจว่า ไทยนั้นก็มีเรื่องปีนักษัตรมานับ 700 ปีแล้ว

สำหรับทางโหราศาสตร์ไทย จะมีตำราวิชาสืบทอดสถิติกันมาว่า หากดาวพฤหัสเข้าอยู่ในราศีธนู เมื่อใด จะเริ่มเป็นปีชวดเมื่อนั้น ดังนั้น หากเรารู้ว่าดาวพฤหัสอยู่ในราศีอะไร ก็จะไล่ปีนักษัตรได้
เช่น ในปี ๒๕๖๑ นี้ดาวพฤหัสกำลังโคจรในราศีตุลย์ พอเริ่มนับปีชวดที่ราศีธนู วนมาจนถึงราศีตุลย์ก็จะตกในปีจอ นั่นเอง (**ต้องใช้ปฏิทินโหรโดยละเอียดอีกครั้ง)

อนึ่ง ในหลักโหราศาสตร์ของไทย ยังมีข้อแตกต่างกันในเรื่องปีนักษัตร

กล่าวคือ ปฏิทินโหรในสายสุริยยาตร์ สาย อ.ทองเจือ อ่างแก้ว จะขึ้นปีนักษัตรในวันที่ ๑ มกราคม

ส่วน ปฏิทินโหรของสายนิรายนะ ของ อ.เทพย์ สาริกบุตร จะขึ้นปีนักษัตรในวันที่ ๑ เมษายนของทุกปี
แต่ปฏิทินหลวงซึ่งจัดทำโดยโหรพราหมณ์กองพระราชพิธีฯ มักกำหนดให้ขึ้นปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย (ราวๆ ธันวาคม)
หากโหรอีกหลายท่าน ก็จะนับถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีนักษัตรใหม่ โดยยึดถือจากหลักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน

ในกรณีหลังนี้ หากยึดเอา ๑ ค่ำ เดือน ๕ การเปลี่ยนปีนักษัตร จากปีระกา (ไก่) เป็นปีจอ จะอยู่ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๑ 

แต่… กรณียึดเอาดิถีดาวจันทร์ หรือขึ้นแรมทางจันทรคติ ที่ตรงกับหลักดาราศาสตร์จริงๆ แล้วนั้น ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๑ จะยังเป็นวันจันทร์ดับ ๑๕ ค่ำอยู่เลย
ต้องวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๑  จึงจะเป็นวันเปลี่ยนนักษัตรได้จริง เพราะจะเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ที่แท้จริง
(เรื่องดิถีจันทร์นี้ เอาไว้จะมาคุยให้ฟังอีกในภายหลังนะคะ ถ้ามีผู้สนใจ)

จะเห็นได้ว่า ในเรื่องของนักษัตรปี, ดิถีดาวจันทร์, และหลักโหราศาสตร์นั้น สัมพันธ์กับชีวิตชาวเอเชียเราอย่างแนบแน่นจริงๆ เพราะความหมายของนักษัตร ได้เข้าไปอยู่ในพิธีกรรมหลายๆ ประการ อันเกี่ยวพันกับโชคลางความเชื่อ ชะตาราศี

จะนำมาบอกเล่ากันอีกค่ะ ใครสนใจอยากอ่าน อย่าลืมให้กำลังใจผู้พยากรณ์ด้วยนะคะ

ว่าแต่ในนี้ มีใครเกิดปีจอบ้างไหม แล้วครบรอบอายุเท่าไหร่กันบ้างเอ่ย ?

Comments

comments