จากยุค *ถิ่นกาขาว* ถึงยุค *ชาววิไล* ฤาจะเข้ายุคใหม่ *ประชาชนสุขสันต์หน้าใส*

22 ธันวาคม 2563 ดาวเสาร์กุมดาวพฤหัส 

หรือยุคที่ 11 เริ่มแล้วตั้งแต่ เมษายน 2560?

(จากบทความเดิม : จากยุค *ถิ่นกาขาว* ถึงยุค *ชาววิไล* ฤาจะเข้ายุคใหม่ *ประชาชนสุขสันต์หน้าใส* (ข้อสังเกตทางโหราศาสตร์ในการแบ่งยุค))

(บันทึกปูมโหรนี้ เขียนเอาไว้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ สืบต่อไป และผู้สนใจวิชาโหราศาสตร์ทั้งหลายก็จะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดวงชะตาต่างๆ ทั้งร้ายและดี
ด้วยการบันทึกสถิติและเรื่องราวสำคัญๆ ล้วนแต่มีความหมายต่อวงการโหราศาสตร์ยิ่งนัก โดยเน้นไปที่ความถูกต้องของหลักวิชาที่อ้างอิงสืบค้นกันต่อไปได้ และเจตนาที่ดีต่อชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ)

หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟัง การแบ่งยุคสมัยในเมืองไทยของเรา ว่ามีอยู่ 10 ยุคด้วยกัน

ดังว่า

  • ยุคที่ 1 เรียกว่า ยุค “มหากาฬ”
  • ยุคที่ 2 เรียกว่า ยุค “พันธุ์ยักษ์”
  • ยุคที่ 3 เรียกว่า ยุค “รักษ์บัณฑิต”
  • ยุคที่ 4 เรียกว่า ยุค “สนิทธรรม”
  • ยุคที่ 5 เรียกว่า ยุค “จำแขนขาด”
  • ยุคที่ 6 เรียกว่า ยุค “ราชโจร”
  • ยุคที่ 7 เรียกว่า ยุค “นนท์ร้องทุกข์”
  • ยุคที่ 8 เรียกว่า ยุค “ทมิฬ”
  • ยุคที่ 9 เรียกว่า ยุค “ถิ่นกาขาว”
  • ยุคที่ 10 เรียกว่า ยุค “ชาววิไล”

? บ้างก็ว่ามาจากคำทำนายของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี บ้างก็ว่ามาจากคำพยากรณ์ของโหราจารย์ในสมัยรัชกาลที่ 1 บ้างก็ว่ามาจากตำราพยากรณ์ของครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ ที่ได้บันทึกสืบต่อกันไว้

แต่ที่แน่ๆ คือ มีการคัดลอกกันต่อๆ มา และมีคำอธิบายกันอยู่หลายเวอร์ชั่น

ทั้งนี้ ในหนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดี โดย อ.เทพย์ สาริกบุตร ได้เขียนไว้ว่า

“สิ่งซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขรหัสอันเงื่อนงำนี้ให้กระจ่างแจ้งว่า พระองค์ท่าน** ทรงใช้หลักวิชาใดเป็นเครื่องพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็นยุคๆ ทั้งหมดแบ่งเป็น 10 ยุคด้วยกัน เป็นของคู่กับคำพยากรณ์ที่ว่า เมื่ออายุกรุงเทพมหานครจำเริญถึง 150 ปีแล้ว จะมีการผลัดระบบการปกครอง…”
(**หมายถึง รัชกาลที่ 1)

ในลำดับต่อมา อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ท่านก็ได้พิจารณาดวงพระฤกษ์ฝังเสาหลักเมืองอีกครั้ง ตามที่ได้ปราฏในปูมโหร ณ วันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล วันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 06.54 ดังเป็นรูปดวงชะตาดังนี้

ดวงกรุงเทพมหานคร

และท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ในกาละนั้น “ดาวพฤหัส (5) และ ดาวเสาร์ (7) ได้กุมกันอยู่ในราศีธนู

ซึ่งเป็นจุดใหญ่ใจความของการนำดาวใหญ่ทั้งสองดวงนี้ มาผูกพยากรณ์เป็นการแบ่งยุคสมัย

“การพยากรณ์เหตุการณ์จากดวงเมือง ตามที่ว่า 150 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการพยากรณ์แบ่งเหตุการณ์ในชาตาเมืองออกเป็น 10 ยุค
องค์พยากรณ์ได้ทรงจับใจความสำคัญจากดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์นั่นเอง และทรงพยากรณ์ในแนวทัศนโหราศาสตร์อย่างสุขุมคัมภีรภาพ อันควรแก่การเทิดทูนบูชาพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านไว้ในวงจักรวาลโหรไทยของเราชั่วกาลนาน”

อ.เทพย์ สาริกบุตร เขียนไว้ชัดเจนในหนังสือเล่มเดียวกัน (โหราศาสตร์ในวรรณคดี)

มีบันทึกปรากฏในตำราโหราศาสตร์อีกเล่มหนึ่ง ของ อ.ยอดธง ทับทิวไม้ ได้เขียนถึงเรื่องราวของยุคทั้ง 10 เอาไว้ โดยเพิ่มเติมรายละเอียดว่า
  • ยุคที่ 1 เรียกว่า ยุค “มหากาฬ” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2325-2345
  • ยุคที่ 2 เรียกว่า ยุค “พันธุ์ยักษ์” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2345-2364
  • ยุคที่ 3 เรียกว่า ยุค “รักษ์บัณฑิต” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2364-2384
  • ยุคที่ 4 เรียกว่า ยุค “สนิทธรรม” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2384-2404
  • ยุคที่ 5 เรียกว่า ยุค “จำแขนขาด” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2404-2424
  • ยุคที่ 6 เรียกว่า ยุค “ราชโจร” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2424-2444
  • ยุคที่ 7 เรียกว่า ยุค “นนท์ร้องทุกข์” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2444-2464
  • ยุคที่ 8 เรียกว่า ยุค “ทมิฬ” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2464-2483
  • ยุคที่ 9 เรียกว่า ยุค “ถิ่นตาขาว” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2483-2504
  • ยุคที่ 10 เรียกว่า ยุค “ชาววิไล” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2504-2524
ทั้งนี้ มีคำอธิบายเอาไว้อีกโดยละเอียดว่า ในแต่ละยุคนั้น มีความเป็นมาอย่างไร โดยสรุปย่อๆ ได้ว่า
  • ยุคที่ 1 ยุคมหากาฬ เป็นเวลาของการรบพุ่งศึกสงคราม การสร้างเมืองใหม่ เป็นยุคที่มีการฆ่ามากที่สุด พระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตในยุคนี้ ณ วันที่ 6 เมษายน 2325 อันเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์จักรี
  • ยุคที่ 2 ยุคพันธุยักษ์ ปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 และช่วงผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชกาลที่ 2 เป็นยุคของการชำระสะสางทางการเมืองครั้งใหญ่ มีการปราบกบฎแผ่นดินกันอย่างชัดเจน
  • ยุคที่ 3 ยุครักบัณฑิต เป็นช่วงรอยต่อระหว่างปลายรัชกาลที่ 2 และเริ่มรัชกาลที่ 3 ศึกนอกศึกในเริ่มสงบลง เป็นช่วงของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการต่างๆ ในช่วงนี้นักปราชญ์ราชบัณฑิตได้รับการยกย่องอย่างสูง
  • ยุคที่ 4 ยุคสนิทธรรม เป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 3 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 4 เป็นยุคที่มีการทะนุบำรุงพระศาสนา บำรุงวัดวาอาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ามกุฎ ได้ทรงผนวชในยุคนี้ เป็นยุคที่ปราศจากการรบราฆ่าฟันกันอีกต่อไป
  • ยุคที่ 5 ยุคจำแขนขาด เป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 5 เป็นห้วงเวลาของการเสียดินแดนบางส่วนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ดังมีพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าไว้ว่า “ถนัดดั่งพาหาเหี้ยน หั่นให้ไกลองค์” เมื่อทรงเทวษกับความสูญเสียและการรับมือกับนักล่าอาณานิคม
  • ยุคที่ 6 ยุคราชโจร หรือ ราชโคจร ปลายสมัยของรัชกาลที่ 5 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 6 กล่าวว่าเป็นยุคของการล่าเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก และเมืองไทยตกในสภาพเยี่ยงโดนปล้นริดรอน ซึ่งแม้จะไม่กระทบถึงประชาราษฏร์ทั่วไป แต่ก็เป็นเวลาของการอึดอัดคับข้องในราชอาณาจักร
  • ยุคที่ 7 ยุคนนทุกร้อง เป็นยุคปลายสมัยของรัชกาลที่ 6 กล่าวว่ายุคนี้ เศรษฐกิจได้ตกต่ำอย่างถึงที่สุด เงินในท้องพระคลังขาดแคลนอย่างหนัก มีความเดือดร้อนทั่วทุกหย่อมย่าน ข้าราชการถูกดุนออกจากราชการกันเป็นจำนวนมาก
  • ยุคที่ 8 ยุคทมิฬ เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นเอง ในบันทึกเก่ามักจะกล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นยุคอมาตยาธิปไตย ** แต่คนอีกจำนวนหนึ่ง จะเรียกว่า ยุคประชาธิปไตย ในยุคนี้มีการทำลายล้างกันอย่างเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง
  • ยุคที่ 9 ยุคถิ่นกาขาว เป็นช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 และเริ่มต้นรัชกาลที่ 9 ซึ่งต่างชาติต่างประเทศได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นอันมาก อีกทั้งองค์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จนิวัตพระนครโดยเสด็จพระราชดำเนินมาจากต่างประเทศ
  • ยุคที่ 10 ชาววิไล คือรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 อันมีการพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต่างๆ อย่างมหาศาล ดังที่ได้เห็นเป็นปรากฎการณ์อยู่ และในยุคนี้ กล่าวได้ว่า ประชาชนพลเมืองทุกหมู่เหล่า ล้วนมีความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา อย่างยิ่งใหญ่

ภาพประกอบเพื่อพักสายตา

ประเด็นคือว่า นับจาก 10 ยุคที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังไม่มีการตั้งนามเรียกขานยุคสมัยต่อๆ ไปกันอีก
ทั้งนี้อาจเพราะกฎเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการคำนวณอย่างถ่องแท้ และการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ในสังคมบ้านเมืองประกอบกันด้วย
อย่างไรก็ดี ในฐานะนักโหราศาสตร์ เมื่อจับจุดเอาตามที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กรุณาไขปริศนาให้ว่า
“ให้ดูที่ดาวเสาร์กับดาวพฤหัสเป็นสำคัญ”

เราจึงได้ข้อมูลว่า ในการแบ่งแต่ละยุคสมัยนั้น จับจุดที่ดาวพฤหัสร่วมดาวเสาร์ ทำระยะเชิงมุมสำคัญต่อกันจริงๆ ตามนี้

  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีธนู ปี 2325 (ยุค 1 คือ 2325-2345)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีสิงห์ ปี 2345 (ยุค 2 คือ 2345-2364)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีเมษ ปี 2364 (ยุค 3 คือ 2364-2384)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีธนู ปี 2385 (ยุค 4 คือ 2384-2404)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีสิงห์ ปี 2404 (ยุค 5 คือ 2404-2424)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีเมษ ปี 2424 (ยุค 6 คือ 2424-2444)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีธนู ปี 2444 (ยุค 7 คือ 2444-2464)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีสิงห์ ปี 2464 (ยุค 8 คือ 2464-2483)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีเมษ ปี 2483 (ยุค 9 คือ 2483-2504)
  • พฤหัสร่วมเสาร์ ในราศีมังกร ปี 2504 (ยุค 10 คือ 2504 เป็นต้นไป)

(ตรวจทานระยะเชิงมุมหมดแล้ว ถูกต้องตามนี้ แต่ในรายละเอียดระดับวันเวลา องศา ลิปดา จะนำลงในภายหลังอีกครั้งนะคะ จะได้อ่านเข้าใจกันง่ายๆ ไปก่อน)

จะเห็นได้ว่า การแบ่งยุคแต่ละยุคนั้น อยู่ที่การมาถึงของดาวคู่นี้เป็นสำคัญจริงๆ

แล้วการมาถึง ของดาวพฤหัสกับดาวเสาร์ ในครั้งต่อๆ ไปล่ะ

นี่เลยค่ะ นับจากปี 2504 แล้ว ดาวทั้งสอง มีระยะเชิงมุมที่น่าสนใจอีกดังนี้
  • 1 มกราคม 2524 เสาร์กุมพฤหัส ในราศีกันย์ระยะกุมสนิทองศาที่ 15 องศา 55 ลิปดา
  • 5 มีนาคม 2524 เสาร์กุมพฤหัส (พักร์ทั้งคู่) ในราศีกันย์ระยะกุมสนิทองศาที่ 14 องศา 31 ลิปดา
  • 24 กรกฎาคม 2524 **ปีนี้กุมองศากันสองหนเสาร์กุมพฤหัส ในราศีกันย์ (เดินปกติ) ระยะกุมสนิทองศาที่ 11 องศา 20 ลิปดา
  • 28 พฤษภาคม 2543 เสาร์กุมพฤหัส ในราศีเมษ28 องศา 52 ลิปดามีดาวอาทิตย์ร่วมเรือน 13 องศา 45 ลิปดาดาวศุกร์ร่วมเรือน 10 องศา 01 ลิปดา
  • 22 ธันวาคม 2563 เสาร์กุมพฤหัส ในราศีมังกรระยะกุมสนิทองศาที่ 06 องศา 20 ลิปดามีพลูโตประชิดที่ 29 องศา 43 ลิปดา ในราศีธนู

  • 31 ตุลาคม 2583 เสาร์กุมพฤหัส ในราศีกันย์ ระยะกุมสนิทองศาที่ 23 องศา 30 ลิปดา
  • 8 เมษายน 2603 เสาร์กุมพฤหัส ในราศีพฤษภระยะกุมสนิทองศาที่ 06 องศา 05 ลิปดามีดาวศุกร์ร่วมเรือนที่ 07 องศา 06 ลิปดา

ภาพดวงชะตากรุงเทพฯ ดาวพฤหัสกุมเสาร์ในราศีมังกร 22 ธันวาคม 2563

ข้อสังเกต หากเราจะนับหมุดหมายการแบ่งยุค จากการมาถึงแต่ละครั้งของดาวสองดวงที่สุดยิ่งใหญ่นี้

คือดาวพฤหัสกับเสาร์ ที่จะเข้ากุมกันในแต่ละราศีหนึ่งๆ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 20 ปีต่อ 1 รอบ

ตั้งแต่ปี 2504 – 2559 เป็นเวลาที่รอบยาวนานที่สุด คือ 55 ปี นับว่าเป็นรอบพิเศษที่สุด ด้วยการเป็นการเปลี่ยนรัชสมัยครั้งยิ่งใหญ่

หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงครองราชย์เป็นเวลาทั้งหมด 70 ปี 126 วัน

เป็นไปได้ไหมว่า ขณะนี้ เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ ๑๑ แล้ว

โดยยุคที่ ๑๐ นั้น เท่ากับ ระยะเวลาของช่วงปี 2504-2563 นั่นเอง

อนึ่ง หมายเลขที่ 11 นั้น คือเรือนลาภะของจักรราศี

คือลำดับเลขหมายที่สัมพันธ์ถึงการมีความใฝ่ฝัน การดำเนินชีวิตด้วยอุดมคติ การให้ความสำคัญกับมิตรภาพ ความสัมพันธ์ กัลยาณมิตร เพื่อนร่วมอุดมการณ์ และการมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง

ซึ่งหลังจากผ่านช่วงสูญเสียครั้งใหญ่ของปวงชนชาวไทยไปแล้ว ก็เชื่อว่าชาวประชาทุกผู้ทุกนาม แม้จะยังมีความโศกเศร้าเพียงใด ก็ย่อมจะมีความหวังถึงวันท้องฟ้าแจ่มใส ได้ดำเนินชีวิตกันโดยปกติสุข มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในประเทศชาติของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ความหวังยังเป็นสิ่งที่มีค่าเสมอ

และจังหวะก้าวใหม่ๆ นี้ ย่อมจะมีความหมายต่อพวกเราทุกคน

แถมท้าย : ช่างน่าคิดเช่นกันว่า ในการเปลี่ยนเข้าปีใหม่ไทยปี 2560 นี้ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ก็มีข่าวเรื่อง “หมุดใหม่” ปรากฎขึ้น
หมุดใหม่ พบเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 ทดแทนหมุดเก่าของคณะราษฎร หรือในยุคที่ ๑๑ นี้ จะเป็นยุคที่ควรสมญานิยามว่า “ยุคประชาชนสุขสันต์หน้าใส” นั่นเอง

ถ้าลองนำมาเรียงต่อกัน
ยุคที่ 9 ถิ่นกาขาวยุคที่ 10 ชาววิไล 

ยุคที่ 11 ประชาชนสุขสันต์หน้าใส

คล้องจองกันอยู่ไม่ใช่น้อยนี่นา ♥️

แถมท้าย ภาพการดูแลหมุดใหม่ ที่มีคำจารึกว่า ประชาชนสุขสันต์หน้าใส ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560
(หมายเหตุ เขียนไว้ในบันทึกของ FB เมื่อ 19 เมษายน 2060)

Comments

comments